วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

1. ภูมิปัญญาท้องถิ่น "ผ้าคูบัว"


พอดีวันก่อนไปธุระแถวคูบัวก็เลยถือโอกาสแวะเที่ยวซะหน่อย คนไทยเชื้อสายญวนที่นี่ใช้ผ้าจกกันมาตั้งแต่โบราณแล้วครับ แต่ก็เกือบจะสูญหายไปเหมือนกัน ยังดีที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ จนกระทั่งผ้าจกคูบัวกลายเป็นผ้าที่ขึ้นชื่อมาถึงทุกวันนี้



คนนี้คือป้าพิมพ์ลูกสาวของคุณย้ายซ้อน ซึ่งคุณยายซ้อนนี่แหละ ที่เป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการอนุรักษ์ผ้าคูบัวโบราณมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2517 ใช้ขนเม่นจกเส้นด้ายทีละห้องๆ เรียงไปทีละแถวแบบนี้แหละครับ หลายๆ แถวเข้าก็จะมองเห็นเป็นลวดลาย และก็เป็นที่มาของคำว่า... ผ้าจก ลวดลายก็เป็นลายโบราณ มีเยอะมากครับ ลายใหญ่ๆ ที่อยู่ตรงกลางเป็นลายหลัก ส่วนมากจะเป็นดอกไม้ เช่น ลายดอกเซียซ้อนหัก ลายดอกเซียซ้อยเซีย ส่วนข้างๆ จะเป็นลายประกอบ เช่น ลายย้ำ ลายขอกุญแจ ลายนกฮูกกินน้ำร่วมต้น ฯลฯ ที่ผมชอบก็คือลายโก๊งเก๊งครับ... ชื่อแปลกดี ผ้าผืนใหญ่เมื่อกางออกครับ ลายที่จกจะอยู่บริเวณเชิงผ้าครับ อันนี้วางโชว์หลายลายเลยครับ ราคาผ้าจกที่ทอจากไหมผืนละ 3,500 ถ้าเย็บเข้ากับผ้าผืนใหญ่แล้ว 4,500 ถ้าเป็นผ้าจกที่ทอจากฝ้ายก็จะถูกกว่า ทีแรกเห็นราคาก็รู้สึกว่าแพงจัง แต่พอรู้ว่าผ้าผืนนึงต้องนั่งจกกันเดือนนึงเต็มๆ ก็กลับรู้สึกว่า ราคามันถูกไปหรือเปล่าเนี่ย... เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ ประสบการณ์ และสายตามากๆ ยิ่งกว่าทำงานอยู่หน้าคอมฯ ทั้งวันอีกครับ ถ้าใครผ่านไปแถวนั้นอย่าลืมแวะเข้าไปชมนะครับ อยู่ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งนอกจากผ้าจกที่ขึ้นชื่อแล้วใกล้ๆ กันนั้นยังเป็นที่ตั้งของ นครโบราณด้วยครับ...

ถ้าใครผ่านไปแถวนั้นอย่าลืมแวะเข้าไปชมนะครับ อยู่ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งนอกจากผ้าจกที่ขึ้นชื่อแล้วใกล้ๆ กันนั้นยังเป็นที่ตั้งของ นครโบราณด้วยครับ...
2. ภูมิปัญญาท้องถิ่น โอ่ง ราชบุรี




โอ่งราชบุรีทำไมต้องเขียนลายมังกร คนจีนซึ่งเคยทำเครื่องปั้นดินเผามาก่อนจากเมืองจีน ได้มาริเริ่มทำโอ่ง อ่าง ไห ขาย จีนรุ่นบุกเบิกชื่อ นายจือเหม็ง แซ่อึ้งและพรรคพวก ได้รวบรวมทุนได้ 3,000 บาท ตั้งโรงงานเถ้าเซ่งหลีขึ้น เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 เป็นโรงงานขนาดเล็กบริเวณสนามบินอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลราชบุรีเดี๋ยวนี้ แหล่งดินสีแดงที่ราชบุรีก็ค่อนข้างจะมีคุณภาพเหมือนที่เมืองจีน ดังนั้น จากเดิมเราใช้โอ่งอ่างไหจากเมืองจีน ผู้ริเริ่มก็ทำอ่าง ไห กระปุก และโอ่งบ้างเล็กน้อย ให้ชาวมอญราชบุรีใส่เรือไปเร่ขาย การทำโอ่งได้ริเริ่มอย่างจริงจังก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินขาวที่ใช้แต่งลวดลายเดิมได้มาจากเมืองจีน
ต่อมาได้หาทดแทนจากดินที่ท่าใหม่จันทบุรี และสุราษฏร์ธานี เมื่อกิจการรุ่งเรืองขึ้น โรงงานจึงขยายกิจการและผลิตโอ่งเพิ่มมากขึ้น หุ้นส่วนหลายคนแยกตัวไปตั้งโรงงานเอง โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีโรงงานผลิตโอ่งอยู่ถึง 42 แห่ง และเป็นโรงงานผลิตเครื่องเคลือบรูปแบบต่าง ๆ ออกไปอีก 17 แห่งตามจังหวัดอื่น ๆ ที่แยกไปจากนี้ คือ ที่อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรีและในกรุงเทพมหานครบริเวณ สามเสน เป็นต้น
เจ้าของโรงงาน ช่างปั้น และประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดราชบุรี เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วล้วนเป็นลูกหลานจีน ดังนั้นช่างปั้นจึงได้คิดคัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคล และมี ความหมายที่ดี เพื่อให้เกิดความรู้สุกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากความงามเพียงอย่างเดียว ที่สุดก็ได้เลือกสรรลวดลายมังกร ซึ่งแฝงและฝังไว้ด้วยความหมายตามความเชื่อ คตินิยมในวัฒนธรรมจีน ลวดลายมังกรดั้นเมฆ มังกรคาบแก้ว และมังกรสองตัวเกี่ยวพันกัน ล้วนเป็นสัตว์สำคัญในเทพนิยายของจีน เป็นเทพแห่งพลัง แห่งความดี และแห่งชีวิต ช่างปั้นเลือกเอา มังกรที่มี 3 เล็บหรือ 4 เล็บ เป็นลวดลายตกแต่งโอ่ง ช่างผู้ชำนาญปาดเนื้อดินด้วยหัวแม่มือเป็นรูปมังกร โดยไม่ต้องร่างแบบ ขีดเป็นลายมังกรด้วยปลายซี่หวี เป็นหนวด นิ้ว เล็บ ส่วนเกล็ดมังกรหยักด้วยแผ่นสังกะสีแล้วเน้นลูกตาให้เด่นออกมา มารู้จักมังกรซิครับ
พญานาค เป็นชื่อที่คนไทยเรียก มังกร เป็นชื่อที่คนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและญวนใช้เรียก จึงผิดกันเฉพาะรูปร่างหน้าตาและชื่อที่เรียกเท่านั้น ไทยเราไม่เรียก แล้ง เล่ง หรือ หลง ตามภาษาจีน แต่เรียกมังกร มาจากบาลีสันสกฤตว่า มกร หรืออย่างไร ก็ไม่ทราบ ว่าถึงรูปร่างมกรก็เป็นอีกแบบหนึ่งไม่เหมือนรูปเล่งของจีน ในหนังสือตำราพิชัยสงคราม สมัยรัชกาลที่ 2 มีการจัดขบวนทัพข้ามน้ำเรียกว่า มังกรพยุหะ ก็เขียนรูปมังกรคล้าย พญานาค เพียงแต่เพิ่มเขาและเท้าเข้าไปเท่านั้น บางตัวก็มีเกล็ด บางตัวก็มีลายแบบงู ความจริงรูปร่างมังกรแบบจีน คนไทยก็คงเคยเห็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วใน สมัยรัตนโกสินทร์ก็ใช้เป็นลายประดับตามประตู และสลักบนแผ่นหินหลายแห่งรูปมังกรของจีนคงจะได้แพร่หลายไปตามภาชนะพวกถ้วยชามโอ่งไห ดังได้พบบนลายโอ่ง สมัยราชวงศ์ถังที่พบในแม่น้ำลำคลอง
ความจริงแล้วเรื่องของมังกร พญานาค งู ปลา จระเข้ มีเรื่องพัวพันกันชอบกลเรื่องของจีนที่เกิดสมัยที่นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ไทยแปลคำว่า เล้ง เล่ง หลง เป็น
พญานาคหมด ทำให้คนไทยเข้าใจเรื่องดีขึ้น และไทยก็เอารูปมังกรมาเขียนเป็นเป็นแบบไทย ๆ คล้ายพญานาคดังกล่าวมาแล้ว ในหนังสือประวัติวัฒนธรรมจีนได้กล่าวถึงกำเนิดมังกรไว้เป็นความว่า มังกรเกิดขึ้นในสมัยอึ่งตี่หรือหวงตี้ ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายประจำชาติจีน เพราะ สมัยโบราณมนุษย์นิยมใช้รูปสัตว์หรือดอกไม้เป็นเครื่องหมายประจำเผ่าของตน ชาติจีนที่ได้รวมขึ้นเป็นชาติใหม่ จึงควรมีเครื่องหมายประจำชาติใหม่ กษัตริย์อึ่งตี่จึงนำ ส่วนต่าง ๆ ของสัญลักษณ์ที่แต่ละเผ่าเคยใช้มารวมกัน คือนำหัวของสัญลักษณ์ชนเผ่าวัว ลำตัวของเผ่างู เกล็ดหางของเผ่าปลา เขาของเผ่ากวาง และเท้าของเผ่านก นำ ส่วนต่าง ๆ เหล่านี้มาปรุงเป็นรูปสัตว์ชนิดใหม่ขึ้นเรียกว่า เล้ง หรือมังกร มังกรมีเล็บไม่เท่ากัน มังกรผู้ยิ่งใหญ่หรือระดับหัวหน้าจะมี 5 เล็บ และรูปมังกรที่ฉลองพระองค์ของจักรพรรดิจะมีเล็บมากกว่ามังกรธรรมดา คือ ธรรมดามีเพียง 4 เล็บ รูปมังกรที่ฉลองพระองค์ก็จะมี 5 เล็บ และใช้เป็นเครื่องหมายของราชวงศ์ที่มียศสูงสุดส่วนพวกเจ้าชั้นที่ 3 ที่ 4 หรือขุนนางใช้เป็นเครื่องหมายได้เพียงมังกรชนิดชนิด 4 เล็บเท่านั้น ส่วนการประดับตกแต่งทั่ว ๆ ไปก็จะใช้มังกรชนิด 3 เล็บเป็นพื้น มังกรชนิด 5 เล็บนั้นกล่าวว่าเล็บที่ 5 ไม่ได้เรียงกันแบบธรรมดา เล็บที่ 5 จะวางอยู่ตรงกลางฝ่า เท้า มังกรของจีน นอกจากจะมีเขาแบบกวางแล้ว ตัวผู้ยังมีหนวดมีเคราอีกด้วย ตั้งแต่รัชกาล เถาจื่อ แห่งราชวงศ์ถัง ได้เริ่มใช้มังกร 5 เล็บ เป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ มังกรมี 3 ชนิด แต่แบ่งหน้าที่เป็น 4 พวก จีนได้แบ่งชนิดของมังกรออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน คือ หลง เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด มีนิสัยชอบอยู่บนฟ้า หลี เป็นพวกที่ไม่มีเขา อาศัยอยู่ในมหาสมุทร เจียว เป็นพวกมีเกล็ด อยู่ตามลุ่มหนองหรือถ้ำในภูเขา ที่รู้จักกันมากคือ หลง ซึ่งมีส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ 9 อย่างดังกล่าวมาแล้ว มังกรของจีนมีหน้าที่แบ่งกันทำ 4 พวกด้วยกัน คือ มังกรสวรรค์ มีหน้าที่รักษาวิมานเทวดาและค้ำจุนวิมานไม่ให้พังลงมา มังกรเทพหรือมังกรเจ้า มีหน้าที่ให้ลมให้ฝนเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ มังกรพิภพ มีหน้าที่กำหนดเส้นทางดูแลแม่น้ำลำธาร มังกรเฝ้าทรัพย์ มีหน้าที่เฝ้าขุมทรัพย์ของแผ่นดิน มีเรื่องน่าสังเกตว่า หน้าที่ของมังกรไปตรงกับหน้าที่ของพญานาค ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 พวกเหมือนกัน
ไทยรู้จักมังกรมาตั้งแต่เมื่อไร อย่างต่ำที่สุดก็ พ.ศ.2276 ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีรูปมังกรประดับพระเมรุด้วย แต่รูปร่างจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ มาเห็นรูป ร่างมังกรในตำราพิชัยสงครามสมัยรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์ก็เป็นแบบไทย ๆ คือคล้ายพญานาค แต่ไม่มีหงอนสูง มีเขา 2 เขา มีครีบ มีตีน ทำไมรูปมังกรจึงต้องมีลูกแก้วด้วย ตามตำนานกล่าวว่า มังกรมีไข่มุกมีค่าเท่ากับทองร้อยแท่งอยู่ในปาก เมื่อมังกรต่อสู้กันอยู่บนอากาศ ไข่มุกก็ตกลงมาบนพื้นดิน ต้นเรื่องของมังกรคาบแก้วหรือเล่น แก้วจะมาจากเรื่องนี้หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ฟังตามเรื่องแล้วมังกรชอบเพชนนิลจินดามาก ตามภาพเขียนของจีนถ้าเป็นรูปมังกร 2 ตัวหันหน้าเข้าหากัน ก็จะเป็นรูปกลม ๆ สี แดงอยู่ระหว่างมังกรทั้งสองนี้ บ้างก็ว่ารูปกลมแดงนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
ภูมิใจในคำขวัญ “เมืองโอ่งมังกร” ด้วยพื้นฐานของช่างปั้นซึ่งเป็นลูกหลานของคนจีน เนื้อดินเหนียวเป็นวัตถุดิบชนิดดี ช่างติดลายได้นำความสามารถเชิงศิลปะสะท้อนภาพชีวิตตามวัฒนธรรมจีน มา ผสมผสานกับเทคนิคการผลิตเป็นอุตสาหกรรม อดีตจากท่าน้ำหน้าเมือง โอ่งมังกรจะแพร่ไปทั่วตามแม่น้ำลำคลอง ที่เรือขายโอ่งจะผ่านไปได้ จนปัจจุบันนี้ รถบรรทุกสิบล้อ จะขนไปขายทั่วประเทศอย่างเนื่อง ไม่ว่าเหนือจรดใต้ จนเป็นที่รู้จักว่าราชบุรีคือเมืองโอ่งมังกร

เมื่องานกีฬาเยาวชนครั้งที่ 5 และงานมหกรรมของดีเมืองราชบุรี ปี 2532 จังหวัดได้สร้างคำขวัญเพื่อเผยแพร่ให้รู้จักจังหวัดราชบุรี ว่า
“คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร
วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน
เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี”



3.ภูมิปัญญาท้องถิ่น เครื่องจักสาน




เครื่องจักสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทรงคุณค่า ไม้ไผ่ หวาย กระจูด ใบตาล ใบลาน ย่านลิเภา กก กลายมาเป็นเครื่องจักสานที่ทรงคุณค่าได้อย่างไร
เพื่อนๆ คงรู้จักและเคยเห็นเครื่องจักสานที่เป็นกระบุง ตระกร้า กระติ๊บ ข้อง หรือเสื่อ กันมาบ้างนะคะ มีใครทราบไหมค่ะว่า ในประเทศไทยพบหลักฐานการใช้เครื่องจักสานมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หลายๆ คนคงจะตอบว่าในสมัยก่อน หรือในสมัยโบราณใช่มั้ยค่ะ ถูกแล้วค่ะ เครื่องจักสานมีใช้มานานแล้วค่ะ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยนะคะเพราะปัจจุบันเราก็ยังใช้กันอยู่และยังมีให้เห็นในชีวิตประจำวัน หรือตามตลาดทั่วไป เครื่องจักสานเหล่านี้มีความเป็นมาที่ยาวนานและมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาโดยตลอดค่ะ บางชิ้นเด็กสมัยใหม่ก็ไม่รู้จักกันแล้วล่ะค่ะทั้งๆ ที่ในอดีตเคยใช้กันอย่างแพร่หลาย วันนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร จึงนำเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักสานมาฝากเพื่อนๆ คะ เพื่อให้เราได้รู้จักสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันให้มากขึ้น และร่วมกันภาคภูมิใจในการสร้างสรรค์งานของบรรพบุรุษ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยค่ะ
เครื่องจักรสาน
เครื่องจักสาน เป็นงานหัตกรรมที่หล่อหลอมขึ้นจากจิตวิญญาณและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ คำว่า เครื่องจักสาน แยกความหมายคำได้คือ จัก หมายถึงการนำวัสดุมาทำให้เป็นเส้น เป็นแฉก หรือริ้ว ส่วนคำว่า สาน หมายถึง การนำเอาวัสดุที่เตรียมแล้วมาสานประดิษฐ์ให้เป็นรูปร่างและลวดลายต่างๆ ขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งคือ การถัก ซึ่งเป็นกระบวนการประกอบทำให้เครื่องจักสานสมบูรณ์เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอกวัสดุที่นำมาใช้สานได้แก่ ไม้ไผ่ หวาย กก ป่าน กระจูด ลาน ลำเจียก เตย และย่านลิเภา เป็นต้น


ประเภทเครื่องจักสาน
ความคิดพื้นฐานในการสร้างเครื่องจักสานเกิดจากความต้องการในการดำเนินชีวิตเป็นหลัก เครื่องจักสานยุคแรกจึงมีรูปแบบและวิธีการง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน เครื่องจักสานในประเทศไทย เริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานเป็นโครงสร้างเครื่องจักรสานบนภาชนดินเผาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี อายุราว 3,000 ปี และในสมัยสุโขทัยได้มีตำนานเล่าถึงพระร่วงแสดงปาฏิหารใช้กระออม (เครื่องจักสานไม่ไผ่ชนิดหนึ่งใช้ตักน้ำ) อีกด้วยเครื่องจักสานโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ดังนี้คือ1.เครื่องมือในการเกษตรกรรม เช่น วี (กาวี) กระบุง เป็นต้น2.เครื่องมือในครัวเรือน เช่น กระชอนกรองกะทิ พ้อม (กะพ้อม) กระติ๊บ เป็นต้น3.เครื่องมือจับสัตว์ เช่น ลอบ ไซ ข้อง ชนาง สุ่ม เป็นต้น4.เครื่องมือในพิธีกรรม เช่น ขันกระหย่อง ตาเหลว เป็นต้น5.เครื่องมือเบ็ดเตร็ด เช่น กระด้ง เป็นต้น



เครื่องจักสานในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย
ลักษณะของเครื่องจักสานแต่ละประเภทนั้น มักจะทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยของประชาชนแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงมีความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอย รูปร่าง ลวดลาย และวัสดุที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทำให้เครื่องจักสานพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ภาคเหนือ เครื่องจักสานภาคเหนือ จะมีเอกลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมและศาสนา เช่นวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียว เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการบริโภคข้าวเหนียวมีหลายรูปแบบ เช่น -แอบข้าว (แอ้บข้าว) ภาชนะทรงกระบอกสำหรับใส่ข้าวเหนียว -กระทาย ภาชนะใส่พืชผล มีเชือกผูกร้อยกับภาชะ และโยงมาคาดที่หน้าผาก เป็นต้น ภาคอีสาน คนในภาคอีสานมีวัฒนธรรมในการบริโภคข้าวเหนียวเช่นเดียวกับคนในภาคเหนือ แต่เครื่องจักสานของชาวอีสานจะมีลักษณ์เฉพาะ เช่น - กระติ๊บข้าว เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ทรงกระบอกสูงคล้านกระป๋อง ตัวและฝามี ขนาดเกือบเท่ากัน มีเชือกห้อยสำหรับสะพาย - ก่องข้าว ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ มีขาหรือฐานไม้เป็นรูปกากบาทไขว้ ตัวก่องข้าวสานด้วยไม้ไผ่ซ้อนกัน 2 ชั้น คล้ายรูปดอกบัวแต่มีขอบสูงขึ้นไปเหมือนโถ โดยมีส่วนฝาเหมือนฝาชีครอบอีกชั้นหนึ่งสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง - กระออม ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ใช้ตักน้ำหรือหิ้ว หรือหาบคอนภาคกลาง ในบริเวณภาคกลางถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานของประเทศ มีพัฒนาการและมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น - ตระกร้า ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่และหวาย ใช้สำหรับใส่ข้าวของต่างๆ ถือเป็นเครื่องจักสานที่มีความงดงามที่สุดในกลุ่มเครื่องจักสานของภาคกลาง - งอบ เครื่องจักสานสวมศีรษะขณะออกทำงานกลางทุ่งตามท้องไร่ท้องนา ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท เช่น ไม้ไผ่ ใบลาน หรือใบตาล - กระจาด ภาชนะกลม เตี้ย สานด้วยไม้ไผ่ มีขอบและมีหูสำหรับใช้หาบเป็นคู่ๆ ใส่ผักหรือผลไม้
ภาคใต้ ภาคใต้มีรูปแบบเครื่องจักสานต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆ ในด้านรูปแบบ ลวดลาย และวัสดุที่ใช้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัตถุดิบในท้องถิ่น - สมุก ภาชนะสานด้วยใบลาน หรือใบตาล ใช้สำหรับใส่สิ่งของขนาดเล็ก - สอบหมาก ภาชนะสานด้วยกระจูด ใช้สำหรับใส่หมาก - เสื่อกระจูด เสื่อทำจากต้นกระจูดใช้สำหรับปูนอน หรือใช้รองนั่งที่วัดหรือสุเหร่า - เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นเครื่องจักสานพื้นบ้านโบราณ ใช้ย่านลิเภามาจักสานโดยลอกเอาเฉพาะเปลือกมาทำเท่านั้น สามารถทำเครื่องใช้ได้หลายอย่าง เช่น กระเป๋าถือสตรี กุบหมาก เป็นต้น
เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับเรื่องราวของเครื่องจักสานที่เรานำมาฝากเพื่อนๆ ถ้าเพื่อนๆ ท่านไหนสนใจเรื่องเครื่องจักสาน สามารถมาชมนิทรรศการพิเศษเรื่อง เครื่องจักสานไทย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนมีนาคมค่ะ แล้วพบกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
-วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ปาณยา,2527.-สนม ครุฑเมือง. สารานุกรมพื้นบ้านไทยในอดีต. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ต้นอ้อ,2534.

ไม่มีความคิดเห็น: